มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสร้างเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 (ต้นแบบ)
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
จัดสร้างเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 (ต้นแบบ)
ประชาชนทั่วไปหรือหน่วยงานใดที่สนใจนำไปจัดสร้าง
สามารถดาวโหลดแบบฟอร์มขออนุญาตได้ที่นี่
โดยนำมายื่นด้วยตนเองที่สำนั
กงานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-2811902 ต่อ 117 ฝ่ายบรรเทาทุกข์
เอกสารที่ต้องเตรียม ดังนี้
1. กรณีบุคคลธรรมดา
1.1 สำเนาบัตรประชาชน 1 ฉบับ พร้อมรับรองสำเนา
1.2 สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ฉบับ พร้อมรับรองสำเนา
2. กรณีหน่วยงาน/เอกชน/ราชการ
2.1 หนังสือรับรองจดทะเบียนนิติบุคคล และหนังสือจากหน่วยงาน
2.2 สำเนาบัตรประชาชน 1 ฉบับ พร้อมรับรองสำเนา
2.3 สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ฉบับ พร้อมรับรองสำเนา
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้ออกแบบ จัดสร้างและทดสอบเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ต้นแบบ โดยได้ดำเนินการยื่นจดอนุสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะผู้ประดิษฐ์และได้โอนสิทธิการประดิษฐ์ดังกล่าว รวมถึงสิทธิขอรับอนุสิทธิบัตร และ/หรือสิทธิอื่น ๆ ให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ จะเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไป สามารถนำไปต่อยอดในการสร้างเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อรับมือกับสถานการณ์มลพิษต่อไป
เครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ต้นแบบ เป็นระบบบำบัดอากาศแบบเปียก อากาศจะถูกดูดเข้ามาในเครื่องบำบัดด้วยพัดลมดูดอากาศ ผ่านเข้ามาจะถูกทำให้เกิดการอัดตัวโดยผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า “เวนทูรีสครับเบอร์” โดยใช้น้ำเป็นตัวกลางในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ติดมากับมวลอากาศ ซึ่งรูปแบบการใช้น้ำออกแบบไว้ ๒ รูปแบบ คือ (๑) แบบเป็นฟิล์มไหลเคลือบผิวท่อเวนทูรี ซึ่งน้ำส่วนนี้จะถูกอากาศที่อัดเข้ามาด้วยความเร็วและแรงดันสูงทำให้ฟิล์มน้ำกลายเป็นละอองฝอยขนาดเล็ก และ (๒) แบบพ่นเป็นละอองฝอย ละอองฝอยน้ำทั้งหมดจะทำหน้าที่ดักจับโดยการสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ที่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้ออากาศให้เข้ามาอยู่ในเนื้อละอองน้ำแทนกระบวนการนี้เรียกว่า “การสครับ”จากนั้นทั้งอากาศและละอองน้ำจะถูกบังคับให้ไหลลงไปด้านล่างยังถังน้ำหมุนวน ที่ ๑ ซึ่งละอองน้ำส่วนใหญ่จะเกิดการควบแน่นและถูกจัดเก็บอยู่ในถังน้ำ มวลอากาศทั้งหมดและละอองน้ำบางส่วนที่ยังไม่ควบแน่นจะไหลต่อไปยังถังดักจับละอองน้ำ โดยอุปกรณ์ที่เรียกว่า “demist vane” ซึ่งละอองน้ำจะควบแน่นและไหลไปรวมตัวกันที่ก้นถังในส่วนที่เรียกว่า “ถังน้ำหมุนวนที่ ๒” อากาศที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้งหมดจะไหลออกกลับคืนสู่ด้านนอกทางปล่องปล่อยออก โดยออกแบบเป็นรูปตัวที (T) ที่มีฝาปิด-เปิดเพื่อให้สามารถเลือกรูปแบบการปล่อยออกแบบทิศทางเดียวหรือสองทิศทางได้ และฝาปิด-เปิดสามารถปรับระดับองศาการปิด-เปิดได้เพื่อให้สามารถกำหนดมุมองศาการปล่อยอากาศที่บำบัดแล้ว ออกไปยังจุดพื้นที่และระดับความสูงที่ต้องการได้
ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาในเรื่องมลพิษทางอากาศ อันเนื่องมาจากฝุ่นที่มีขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ภัยพิบัติฝุ่น PM 2.5 ดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากสาเหตุหลายปัจจัย เช่น ไอเสียรถยนต์ ไอเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นจากการก่อสร้าง ฝุ่นจากถนนที่ยานพาหนะวิ่งสัญจร ฝุ่นจากสนามบิน ควันไฟจากกิจกรรมการเผาต่าง ๆ ในพื้นที่เปิด ได้แก่ การเผาขยะ การเผาป่า รวมถึงควันไฟที่ลอยตัวมาจากต่างประเทศ ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว ภัยพิบัติฝุ่น PM 2.5 จึงเกิดขึ้นเป็นประจำในทั่วภูมิภาคของประเทศและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นให้แก่ประชาชน โดยการจัดสร้างเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ต้นแบบ ขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศดังกล่าว ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในระยะยาว ซึ่งเดิมมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อประชาชนในพื้นที่ประสบภัยต่าง ๆ ด้วยการแจกหน้ากากอนามัย N95 เพื่อใช้แก้ปัญหาในเบื้องต้น พบว่าใช้งบประมาณสูงกว่าการจัดสร้างเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ต้นแบบ ที่ใช้งบประมาณไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน) ต่อเครื่อง ซึ่งสามารถจัดสร้างได้โดยช่างไทยในโรงงานขนาดเล็กที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้ประหยัดงบประมาณโดยไม่ต้องนำเข้าเครื่องดังกล่าวจากต่างประเทศ และเป็นการนำองค์ความรู้ของคนไทยมาต่อยอดในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใช้เองในประเทศ อันเป็นวิถีทางในการพัฒนาพึ่งพาตนเองเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ผ่านการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าเพื่อส่งเสริมฝีมือช่างไทยและธุรกิจขนาดเล็กอันเป็นฐานรากที่สำคัญฐานรากหนึ่ง ให้สามารถจัดสร้าง และดูแลซ่อมบำรุงเครื่องดังกล่าวได้เองทั่วภูมิภาค