มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พัฒนาเครื่องบำบัดอากาศลดมลพิษ-ฝุ่นPM2.5 แก้ปัญหาฝุ่นพิษ
วันพฤหัสบดี ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการทดสอบและพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM ๒.๕ เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศให้กับประชาชน
ที่ห้องประชุม สำนักงานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด มหาชน หรือ จีซี ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ หรือ MOU โครงการทดสอบและพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM๒.๕ เพื่อนำองค์ความรู้ของคนไทยมาต่อยอดในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใช้เอง เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เห็นถึงปัญหาหมอกควันจากไฟป่าทางภาคเหนือที่เกิดขึ้นทุกปี และฝุ่นขนาดเล็ก PM๒.๕ ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยตัวเครื่องขั้นตอนและหลักการทำงานของเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM ๒.๕ ต้นแบบ เป็นระบบบำบัดอากาศแบบเปียก อากาศจะถูกดูดเข้ามาในเครื่องบำบัดด้วยพัดลมดูดอากาศ ผ่านเข้ามาจะถูกทำให้เกิดการอัดตัวโดยผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า “เวนทูรีสครับเบอร์” โดยใช้น้ำเป็นตัวกลางในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ติดมากับมวลอากาศ ซึ่งรูปแบบการใช้น้ำออกแบบไว้ ๒ รูปแบบ คือ แบบเป็นฟิล์ม ไหลเคลือบผิวท่อเวนทูรี ซึ่งน้ำส่วนนี้จะถูกอากาศที่อัดเข้ามาด้วยความเร็วและแรงดันสูงทำให้ฟิล์มน้ำกลายเป็นละอองฝอยขนาดเล็ก และ แบบพ่นเป็นละอองฝอย ละอองฝอยน้ำทั้งหมดจะทำหน้าที่ดักจับโดยการสัมผัสกับฝุ่น PM ๒.๕ ที่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้ออากาศให้เข้ามาอยู่ในเนื้อละอองน้ำแทน กระบวนการนี้เรียกว่า “การสครับ” จากนั้นทั้งอากาศและละอองน้ำจะถูกบังคับให้ไหลลงไปด้านล่างยังถังน้ำหมุนวนที่ ๑ ซึ่งละอองน้ำส่วนใหญ่จะเกิดการควบแน่นและถูกจัดเก็บอยู่ในถังน้ำ มวลอากาศทั้งหมดและละอองน้ำบางส่วนที่ยังไม่ควบแน่นจะไหลต่อไปยังถังดักจับละอองน้ำ โดยอุปกรณ์ที่เรียกว่า “Demist vane” ซึ่งละอองน้ำจะควบแน่นและไหลไปรวมตัวกันที่ก้นถังในส่วนที่เรียกว่า “ถังน้ำหมุนวนที่ ๒” อากาศที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้งหมดจะไหลออกกลับคืนสู่พื้นที่ที่เกิดปัญหาได้เป็นอย่างดี และสามารถปฏิบัติภารกิจตามหลักการสำคัญซึ่งเป็นหัวใจของวิธีการบำบัดฝุ่น PM ๒.๕ ในพื้นที่เปิด
พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี กล่าวว่า “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นให้แก่ประชาชน โดยการจัดสร้างเครื่องต้นแบบสำหรับบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM ๒.๕ ขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศดังกล่าว ซึ่งเดิมมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้แจกหน้ากากอนามัย N๙๕ ในเบื้องต้น แต่พบว่าใช้งบประมาณสูงกว่าการจัดสร้างเครื่องต้นแบบสำหรับบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM ๒.๕ ที่ใช้งบประมาณไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ต่อเครื่อง ซึ่งความร่วมมือในการพัฒนาต่อยอดให้เครื่องมีประสิทธิภาพสูงจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลฯ นี้ โดยจะมีการทดสอบเครื่องบำบัดอากาศ นำร่องใน ๒ พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ บริเวณโดยรอบวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เขตพระนคร และบริเวณโดยรอบวังสระปทุม เขตปทุมวัน หรือพื้นที่ตามที่มูลนิธิฯ กำหนด และจะขยายออกไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหามลภาวะฝุ่น PM๒.๕ ในจังหวัดเชียงใหม่ด้วย เพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น”
ทางด้าน ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวว่า “การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้มีระยะเวลา ๖ เดือน คือ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๓ แบ่งเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะที่ ๑ ทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลฯ มอบเงินสนับสนุนให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เพื่อสร้างเครื่องบำบัดอากาศต้นแบบจำนวน ๗ เครื่อง และระยะที่ ๒ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลฯ จะพัฒนาต่อยอดจากเครื่องต้นแบบ โดยการสนับสนุนนักวิจัย วิศวกร พนักงานและนวัตกรรมของบริษัทฯ ร่วมกันวิเคราะห์ผล และศึกษาแนวทางเพื่อปรับปรุงพัฒนาให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดปัญหามลพิษทางอากาศ ทั้งการสนับสนุนบุคลากรนักวิจัย วิศวกร และองค์ความรู้ เพื่อการแก้ปัญหาดังกล่าว และในอนาคตมีแนวทางที่จะเข้าไปสนับสนุนเพื่อการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือหรืออุปกรณ์บำบัดอากาศ PM๒.๕ ในการบริหารจัดการและควบคุมการปล่อยมลพิษ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม”
ขณะเดียวกัน ภายหลังความร่วมมือเสร็จสิ้นที่สำนักงานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ยังได้จัดให้มีการอบรมการใช้งานการติดตั้งและดูแลรักษาเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM ๒.๕ (ต้นแบบ) ให้แก่ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ขออนุญาตใช้สิทธิ์ตามอนุสิทธิบัตร เพื่อไปจัดสร้างเครื่องต่อไป