พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๒ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. พลเรือเอกพงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำคณะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจเยี่ยมคณะครูและนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๒ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ รวมทั้งรับทราบปัญหา อุปสรรค และความต้องการของครูและนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๒ ตำบลพรุพี อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนายประเวช ไทยประยูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ภาครัฐ เอกชน ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงาน/ปัญหาอุปสรรคของโรงเรียน พร้อมกับเยี่ยมชมห้องเรียน ชมนิทรรศการของนักเรียน รับชมการแสดงรำมโนราห์ของนักเรียน พร้อมมอบผ้าห่มกันหนาว จำนวน ๗๘ ชุด และร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก
ที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ให้แนวทางในการจัดการเรียนการสอนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนใน 5 รูปแบบ
ได้แก่ 1 On Site 2 On Air 3 Online 4 On Demand และ 5 On Hand นั้นซึ่งทางโรงเรียนได้ดำเนินการสำรวจความพร้อมการเรียนทางไกล การวางแผนการดำเนินงานและประชุมชี้แจงผู้ปกครองและรักเอกสารการเรียน การเรียนทางไกล/การติดตามให้คำแนะนำประจำวันของคุณครูช่องทางกลุ่มไลน์ การประชุมสรุปการดำเนินงานแต่ละสัปดาห์และการออกเยี่ยมเยียนบ้าน ติดตามและให้คำแนะนำ สำหรับปัญหาที่พบส่วนใหญ่ นักเรียน ครอบครัวไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ที่เป็นช่องทางการเรียน และผู้ปกครองไม่สามารถดูแลนักเรียนในการเรียนด้วยตนเอง ทางโรงเรียนแก้ปัญหาโดยการเน้นการจัดการเรียนการสอน โดยใช้เอกสาร ใบงาน แบบฝึกหัด (On-hand) รวมทั้งคำแนะนำผ่านทางกลุ่มไลน์ห้องเรียนและการออกเยี่ยมบ้านติดตามการเรียน
ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๒ จัดการศึกษา ๓ ระดับ ได้แก่ ระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น มีนักเรียนทั้งสิ้น ๒๕๘ คน มีผู้บริหาร ๑ คน ข้าราชการครู ๑๕ คน ลูกจ้างประจำ ๑ คน ลูกจ้างชั่วคราว ๒ คน ส่วนปัญหาอุปสรรคของโรงเรียน คือ ขาดแคลนครูในการจัดการเรียนการสอนในระดับก่อนประถมศึกษา ขาดสื่อการเรียนรู้ และการส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียน เช่น เครื่องเล่นสนามชำรุด สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย อุปกรณ์ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์มีไม่เพียงพอ