นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี มอบถุงพระราชทานให้แก่ราษฎร และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่
วันศุกร์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการฯ เชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ โครงการสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแปกแซม ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งสิ้น ๕๘๓ ถุง พร้อมเสื้อกันหนาว จำนวน ๑๕๘ ตัว มอบแก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน ๔ โครงการ ได้แก่ โครงการสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมฯ บ้านแปกแซม โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ฯ บ้านดอยดำ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ ห้วยแม่เกี๋ยง โครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้อำเภอเชียงดาว-ไชยปราการ (ห้วยจะค่าน) ซึ่งราษฎรและเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ในครั้งนี้
โอกาสนี้ องคมนตรี ได้ร่วมปลูกต้นไม้เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ จากนั้นเยี่ยมชมผลสำเร็จการดำเนินงานของโครงการสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมฯ บ้านแปกแซม ซึ่งปัจจุบันราษฎรมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เพิ่มขึ้น ๕,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ บาท มีสุขภาพพลานามัยที่ดีขึ้น และสามารถอยู่ร่วมกับป่าอย่างพึ่งพาอาศัยกัน จากแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานให้พัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ และหมู่บ้านใกล้เคียง จำนวน ๓ หมู่บ้าน ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่ให้ราษฎรเดือดร้อน เพื่อให้ราษฎรเป็นผู้ชำนาญการด้านป่าไม้ การเกษตร การปศุสัตว์ รวมทั้งอนุรักษ์ป่าและสภาพแวดล้อมให้คืนความสมบูรณ์ดังเดิม เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารสำหรับใช้อุปโภคบริโภค และการเกษตร
ในปี ๒๕๔๓ สถานีสาธิตและถ่ายทอด การเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ได้ก่อตั้งขึ้นและดำเนินการตามแนวพระราชดำริ โดยส่งเสริมความรู้ด้านการเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์งานฝีมือ อาทิ ผ้าทอมือ เครื่องจักสาน พร้อมกับพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันทำให้สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นร้อยละ ๙๐ น้ำในลำห้วยมีปริมาณและคุณภาพดีขึ้นร้อยละ ๘๐ สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ปัญหายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายลดลงร้อยละ ๙๐ การลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของชนกลุ่มน้อยลดลงร้อยละ ๙๕ และการบุกรุกทำไร่เลื่อนลอย ตัดไม้ทำลายป่า เผาป่าในฤดูแล้ง ตลอดจนการล่าสัตว์ป่าลดลงร้อยละ ๘๕ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ราษฎรได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน ซึ่งในปี ๒๕๖๒ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศหมู่บ้านปลอดขยะรักษาสิ่งแวดล้อมระดับภาคเหนือ นอกจากนี้โครงการฯ มีแผนที่จะพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้การดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงเกษตร เชิงวัฒนธรรม อีกด้วย