นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี มอบถุงพระราชทานให้แก่ราษฎร และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดน่าน
วันพฤหัสบดี ที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๓๐ น. ณ ฐานปฏิบัติการบ้านสว้า (มว.ที่ ตชด.๓๒๕๓) ตำบลดงพญา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหน่วยงานความมั่นคง จำนวน ๖๕ ถุง และกองร้อยทหารพรานที่ ๓๒๐๔ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันชายแดนรักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่ประชาชน โอกาสนี้ องคมนตรี รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ จากนั้นได้ปลูกต้นไทรย้อยใบแหลมเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่
ต่อมาคณะฯ เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เพื่อรับฟังผลการดำเนินงาน และเดินทางไปยังบ้านสะเกี้ยง พร้อมเชิญถุงพระราชทานรวมทั้งสิ้น ๔๐๖ ถุงไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการฯ และเสื้อกันหนาว รวม ๒๒๗ ตัว มอบแก่เด็ก เพื่อบรรเทาความหนาวเย็นจากสภาพภูมิอากาศ โอกาสนี้ได้มอบของที่ระลึกพระราชทานแก่ผู้ปฏิบัติงาน จำนวน ๒ ราย รวมทั้งมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานแก่ตัวแทนราษฎร
จากนั้นได้เยี่ยมชมผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง” ขึ้น โดยเน้นเรื่อง “คนอยู่คู่กับป่า อย่างเกื้อกูลกัน” มาเป็นแนวทางในการพัฒนาสามารถประกอบอาชีพและมีรายได้เลี้ยงครอบครัว สามารถส่งลูกเรียนหนังสือในระดับที่สูงขึ้น ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปริญญาตรี และปริญญาโท รวม ๒๕ ครัวเรือน จึงไม่มีการอพยพแรงงานย้ายถิ่นไปทำงานในเมืองหรือต่างจังหวัด ครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาและมีความสุข
เวลา ๑๕.๑๐ น. คณะเดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เชิญถุงพระราชทานรวมทั้งสิ้น ๔๔๗ ถุง ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานพร้อมเสื้อกันหนาว จำนวน ๒๓๐ ตัว ไปมอบแก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ และเยี่ยมชมผลผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ปัจจุบันราษฎร มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่เคยมีรายได้เพียง ๒๙,๗๕๐ บาทต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น ๕๙,๐๘๒ บาทต่อปี จากการส่งเสริมปลูกหม่อนผลสด กาแฟ และการทำนาแบบขั้นบันไดซึ่งให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการบริโภค พื้นที่ป่าได้รับการฟื้นฟูประมาณร้อยละ ๑๐๐ ส่งผลให้แหล่งต้นน้ำมีคุณภาพดี น้ำใส และมีอัตราการไหลสม่ำเสมอตลอดทั้งปี ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้และอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืนตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง