พิธีรับมอบเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 รุ่นที่ 3 ณ สำนักงานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
วันที่ 22 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 4 สำนักงานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีรับมอบเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 รุ่นที่ 3 จากกลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC Group และได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ราษฎรไม่ว่าจะเป็นการสงเคราะห์ด้านการศึกษา และด้านสาธารณภัยต่าง ๆ ที่เกิดทั่วประเทศ โดยในปัจจุบันปัญหามลภาวะจากอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ยังคงส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก ในระยะแรกนั้น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้สนับสนุนหน้ากากอนามัย N95 แก่ประชาชนนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อใช้แก้ปัญหาในเบื้องต้น
โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ จัดสร้างเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 (ต้นแบบ) รุ่นที่ 1 ใช้ระบบบำบัดด้วยเวนทูรีสครับเบอร์ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก GC Group นอกจากนี้ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการทดสอบและพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ร่วมกัน โดย GC Group สนับสนุนบุคลากรนักวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรมการออกแบบ เพื่อพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 รุ่นที่ 2 ใช้หลักการบำบัดด้วยตัวกรอง (Filter) 3 ชั้น
และในปี 2564 นี้ ทาง GC ได้พัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ในรุ่นที่ 3 ซึ่ง ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) กล่าวว่า “GC Group ในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยในระยะยาว จึงได้สนับสนุนบุคลากร ทีมงานวิศวกร และนักวิจัย อย่างต่อเนื่อง พร้อมต่อยอดและพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 รุ่นที่ 3 โดยใช้ระบบตัวกรอง 3 ชั้น เพิ่มจุดเด่นด้วยการใช้นวัตกรรมพลาสติกของ GC Group เป็นส่วนประกอบของเครื่อง โดยนำเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น หรือ LLDPE Compound ผสมกับฝาขวดน้ำพลาสติกรีไซเคิล นำมาผ่านกระบวนการผลิตแบบหมุนเหวี่ยง (Rotational Molding) เพื่อสร้างชิ้นงานที่ไม่มีรอยต่อ มีความแข็งแรงสูงและทนต่อรังสี UV เหมาะสำหรับใช้งานกลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน เป็นการสนับสนุนแนวคิดการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดของเสียให้ได้มากที่สุด สอดคล้องกับแนวทาง GC Circular Living และได้เพิ่มระบบฆ่าเชื้อโรคในอากาศ ด้วยหลอดยูวีซีบริเวณอากาศขาออกจาก Filter ประสิทธิภาพ 98-99% โดยประมาณ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนด้านสุขอนามัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 พร้อมด้วยระบบเซนเซอร์และจอแสดงผลการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพอากาศแบบในรูปแบบเรียลไทม์
สำหรับการออกแบบในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานร่วมกันกับ รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา ในการพัฒนารูปแบบของเครื่อง ให้มีลักษณะที่สวยงาม เป็นมิตรกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม และรศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าทีมวิจัยเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษาในส่วนของระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศและหน้าจอแสดงผล PM2.5
การดำเนินการในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการนำองค์ความรู้ของคนไทยมาต่อยอดสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใช้เองภายในประเทศ แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ ที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนในวงกว้าง เพื่อช่วยคนไทยเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์มลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 โดยหวังว่าเครื่องบำบัดอากาศฯ นี้จะช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย ในระยะยาว สำหรับหน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อขอรับ Blueprint เพื่อนำไปต่อยอดในการสร้างเครื่องบำบัดอากาศ สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-2811902