โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๓ จังหวัดสงขลา
ประวัติโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๓
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสงขลา เขต ๓ ได้ดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา ซึ่งเหตุความไม่สงบดังกล่าวส่งผลให้เด็กในพื้นที่ส่วนหนึ่งต้องสูญเสีย บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ทำให้เด็กกำพร้าไม่มีผู้ดูแลและไร้การศึกษาซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศรัฐบาลเห็นว่าการศึกษามีส่วนสำคัญในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่เด็กและเยาวชน อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ มีทักษะพื้นฐานทางวิชาชีพมีพัฒนาการที่ถูกต้องเหมาะสมกับวัย มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีทักษะในการดำรงชีวิต มีคุณธรรม จริยธรรมและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
คณะรัฐมนตรีซึ่งมี ฯพณฯ พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ประชุม คณะรัฐมนตรีสัญจร ณ จังหวัดพังงาเมื่อ ๖ กันยายน ๒๕๔๘ ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ขึ้นใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้
๒๒ กันยายน ๒๕๔๘ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสงขลา เขต ๓ เตรียมจัดหาที่ดินเพื่อใช้ก่อสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ในเขตพื้นที่การศึกษาสงขลา เขต ๓ โดยนายศลใจ วิบูลกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสงขลา เขต ๓ ได้มอบหมายให้ นายสุรศักดิ์ ยกถาวร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสงขลา เขต ๓ (ตำแหน่งในขณะนั้น) และนายสุรเชษฐ์ พฤกษวานิช ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษาสงขลา เขต ๓ เป็นผู้ดูแลและจัดหาสถานที่ และได้นำเสนอพื้นที่เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย เทพา จะนะ และนาทวี ๒ แห่ง รวม ๕ แห่งใน ๔ อำเภอ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเป็นสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์
วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๘ ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกสถานที่ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา (นายสมพร ใช้บางยาง) เป็นประธาน ร่วมกับ นายวินัย พัฒนรัฐ กรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ นายศลใจ วิบูลกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสงขลา เขต ๓ และคณะกรรมการทั้งหมด ได้มีมติให้ใช้ที่ดินซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณทุ่งดึงดัง หมู่ที่ ๔ ตำบลฉาง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เป็นที่ก่อตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์
ต่อมาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสงขลา เขต ๓ ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้เกี่ยวข้อง ได้จัดทำโครงการก่อสร้าง โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และหนังสือราชการแจ้งขอใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ใน หมู่ที่ ๔ ตำบลฉาง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ถึงเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอนาทวี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฉาง (นายเจริญ เข็มจะระ) ที่ว่าการอำเภอนาทวี สำนักงานโยธาธิการ และนำเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานรังวัดที่ดินอำเภอนาทวี เพื่อรังวัดที่ดินสาธารณะประโยชน์ (นสล.) ที่ ๔๙๒๒๗ จำนวน ๑๘๐-๑-๒๒.๘ ไร่ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยทหารช่างจังหวัดราชบุรีและกองพลทหารช่างที่ ๓๐๒ จังหวัดพิษณุโลก เข้าปรับพื้นที่ในการเตรียมการก่อสร้างโรงเรียน และทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ โดยมีนายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธี แต่เนื่องจากรัฐบาลขณะนั้นขาดงบประมาณในการสนับสนุนการก่อสร้างโรงเรียน โครงการก่อสร้างจึงได้หยุดชะงักไปชั่วคราว
กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้ง “โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๓ จังหวัดสงขลา” ขึ้นเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ อันเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และเพื่อรองรับเด็กด้อยโอกาส เด็กกำพร้า เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ได้รับบริการการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง โดยจัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์เพิ่มขึ้น ๕ โรงเรียน เป็นแบบโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ รับนักเรียนสหศึกษา ประเภทประจำและไป – กลับที่จังหวัดสงขลา ซึ่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ความอนุเคราะห์รับเข้าโครงการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เมื่อถึงสมัยรัฐบาลของ ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างโรงเรียน และให้กองพลพัฒนาที่ ๓ จังหวัดพิษณุโลก นำโดย พันเอกศิลปนันท์ ลำกูล เข้าดำเนินการก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๐ โดยมีระยะโครงการ ๒ ระยะ (ระยะแรก ๑ มีนาคม ๒๕๕๐ ถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๕๐ งบประมาณ ๔๒,๕๕๙,๗๔๓ บาท และระยะที่สอง ๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ ถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๕๑ งบประมาณ ๘๔,๔๘๑,๔๗๕บาท ) รวมงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง ๑๒๗,๐๔๑,๒๑๘ บาท ในการดำเนินการก่อสร้างทั้ง ๒ ระยะนั้น มูลนิธิราชประชา นุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบหมายให้ นายวินัย พัฒนรัฐ กรรมการบริหารมูลนิธิ เป็น ผู้ประสานงานในการดำเนินการก่อสร้าง ในขณะที่ดำเนินการก่อสร้างอยู่นั้น นายโสภณ อนันต์โสภาจิตร อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดสงขลา ร่วมกับนายเจริญ เข็มจะระ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฉางได้ประสานงานกับชาวบ้านในรอบบริเวณโรงเรียน เพื่อขอใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันโรงเรียนมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๒๐๐ ไร่
ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสงขลาเขต ๓ โดยมติของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาสงขลา เขต ๓ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ นายวชิระ ขวัญเพชร ตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาทวี และนางสาววรดา หลีสะหัด ครูโรงเรียนทองอยู่นุตกูล มาปฏิบัติหน้าที่ผู้ประสานงาน ในการดำเนินงานของโรงเรียน
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.rpg43.ac.th